ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างบ้านเรือนขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ ถนน สะพาน หรือแม้แต่เขื่อนกันน้ำ ก็ล้วนต้องใช้ปูนซีเมนต์ทั้งสิ้น ปูนซีเมนต์มีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เหมาะสำหรับสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป
ปูนซีเมนต์ที่ผลิตภายในประเทศไทย เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ รหัส ซี – 150 ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ในปัจจุบันปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ รหัส ซี – 150 สามารถจำแนกได้ออกเป็น 5 ประเภทย่อย ตามคุณสมบัติและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
v ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทหนึ่ง
เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แบบพื้นฐานที่ใช้กับงานก่อสร้างทั่วไป เช่น ใช้ทำคานคอนกรีต เสาอาคารทั่วไป ถนน สะพาน ฯลฯ ปูนซีเมนต์ประเภทนี้ที่พบเห็นในท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ตราช้าง ตราเพชร (เม็ดเดียว) ตราพญานาคเศียรเดียวสีเขียว ตราทีพีไอ (สีแดง)
v ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทสอง
เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่มีความทนทานต่อซัลเฟตปานกลาง ใช้กับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ ในบริเวณที่โดนน้ำเค็มในระดับไม่สูงนัก เช่น งานตอม่อสะพานเทือบเรือ เขื่อน เป็นต้น ปูนซีเมนต์ประเภทนี้ที่พบเห็นในท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ตราพญานาคเจ็ดเศียร
v ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทสาม
เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่มีเนื้อปูนละเอียดเป็นพิเศษ มีผลทำให้ปูนแข็งตัว และรับแรงได้เร็วกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทอื่น มักใช้กับงานที่ต้องการความเร่งด่วน หรือต้องการถอด รื้อถอนแบบเร็วกว่าปกติ เช่น งานทำเสาเข็ม พื้นสำเร็จรูป เป็นต้น ปูนซีเมนต์ประเภทนี้ที่พบเห็นในท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ตราเอราวัณ ตราสามเพชร ตราพญานาคเศียรเดียวสีแดง ตราทีพีไอ(สีดำ)
v ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเกิดความร้อนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทสี่
เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ไม่ค่อยใช้กันแพร่หลายนัก มักใช้กับงานเฉพาะด้าน ที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ เช่น การทำเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งต้องควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยา ระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำในช่วงที่ปูนซีเมนต์กำลังแข็งตัว ไม่ให้มีมากจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดการแตกร้าว หรือเสียหายต่อตัวเขื่อนได้
v ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดต้านทานซัลเฟตได้สูง หรือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทห้า
เป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดที่มีความต้านทานต่อซัลเฟตสูง เหมาะสำหรับใช้กับงานก่อสร้างในบริเวณที่มีซัลเฟตสูง เช่น งานตอม่อหรือเสาในบริเวณที่อยู่ใกล้ชายทะเล ปูนซีเมนต์ประเภทนี้ที่พบเห็นได้ตามท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ตราปลาฉลาม ตราช้างพื้นสีฟ้า ตราทีพีไอ(สีฟ้า)
นอกจากนี้ยังมีปูนซีเมนต์ผสม หรือปูนซีเมนต์ซิลิกา ซึ่งได้จากการนำเอาทรายหรือหินปูนบดละเอียด ผสมเข้ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดธรรมดา ในอัตราส่วนประมาณ 1:4 บรรจุขายเป็นปูนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคุณภาพแระราคาต่ำกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา มีคุณสมบัติแข็งตัวช้า จึงเหมาะสำหรับงานปูนก่อ ฉาบ ตกแต่ง และงานคอนกรีตที่ไม่ต้องรับแรงมาก อย่างไรก็ตาม ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ก็ยังคงมีผู้นำมาใช้กับงานโครงสร้างทั่วไป เช่น การทำเสาและคาน เนื่องจากมีราคาถูก แต่ก็สามารถใช้ได้กับงานโครงสร้างขนาดเล็กเท่านั้น ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ที่พบเห็นในท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ตราเสือ ตรางูเห่า ตรานกอินทรี และตราทีพีไอ(สีเขียว)
นอกจากปูนซีเมนต์ชนิดต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีปูนซีเมนต์อีกชนิดหนึ่ง ที่พบเห็นในงานก่อสร้างอยู่เสมอ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ขาว ซึ่งก็คือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีลักษณะเป็นสีขาว และมีคุณสมบัติในการแข็งตัวค่อนข้างช้า เน้นการใช้สอยในแง่ของการตกแต่งมากกว่าการใช้ทำเสา หรือคานรับน้ำหนัก มักใช้ในงานเกี่ยวกับการทำหินขัด ทรายล้าง งานติดตั้งสุขภัณฑ์ และงานยาแนวรอยต่อของกระเบื้อง หรือใช้ในงานที่ต้องการผสมสีต่างๆเพื่อความสวยงาม ปูนซีเมนต์ชนิดนี้ที่พบเห็นในท้องตลาด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ขาวตราช้างเผือก ปูนซีเมนต์ขาวตราเสือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น